5 ปี ผลงานเด่นรัฐบาลลุงตู่
เรื่อง: สิตานันท์ รีเอี่ยม และธวัลรัตน์ จิตมั่น
ภาพ: กฤษณะ วงค์คม
หลังการปิดฉากการโต้แย้งทางการเมืองในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ทำการ “ยึดอำนาจ” ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของประชาชน ณ ตอนนี้ก็ผ่านมา 5 ปีแล้ว เรามาย้อนดูผลงานของอัศวินขี่ม้าขาวคนนี้กันว่านอกจากผลงานเพลงอันโด่งดังแล้ว ผลงานด้านนโยบายบริหารมีอะไรที่น่าจดจำบ้าง
ปราบทุจริต แต่ปกป้องเพื่อน?
รัฐบาล คสช. ได้มีการวางรากฐานนโยบายสำคัญในการปราบปรามการทุจริตในระบบราชการ โดยการตั้งองค์กรตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานราชการขึ้น การตรวจสอบโครงการของรัฐประสบผลสำเร็จไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น กระทรวงศึกษาธิการได้ตรวจพบการทุจริตกองทุนเสมา ซึ่งมีข้าราชการระดับสูงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ 2551-2561 พบว่า ได้ทำการทุจริตเงินในจำนวนกว่า 88 ล้านบาท และตรวจสอบพบการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับปลัดกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีการกระทำผิดใน 53 จังหวัด งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท
แม้จะมีผลงานเด่นในการปราบทุจริตให้เห็น แต่เรื่องภายในของรัฐบาลก็ยังมีหลายกรณีให้ประชาชนต้องสงสัยกัน เช่น กรณี “นาฬิกาแม่ แหวนเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่มีหลักฐานมัดตัวแทบดิ้นไม่หลุด กลับตรวจสอบไม่พบความผิดอะไรเลย
บัตรคนจนหรือ เงินซื้อใจ ?
รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาต่อยอดโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปี 2559 แจกเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจน สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยโดยการสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ และลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ในปี 2562 เมื่อเข้าใกล้วันเลือกตั้งครั้งใหม่ รัฐบาล คสช. ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยเร่งอัดฉีดเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม แม้จะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนส่วนหนึ่งว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เนื่องจากเงินสนับสนุนโครงการมาจากภาษีประชาชนทุกคนแต่กลับนำมาแจกจ่ายให้กับคนกลุ่มเดียว เป็นข้อครหาว่าเป็นการทำเพื่อช่วยเหลือคนจนหรือทำเพื่อซื้อใจประชาชนกันแน่
สงบสุข แต่ แลกกับเสรีภาพ ?
หลังการรัฐประหาร คสช. ออกกฎหมายเพื่อห้ามการชุมนุม และดำเนินคดีเอาผิดกับกลุ่มผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่หลายครั้ง เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น และมาตรา 215 ฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ส่งผลให้ประเทศไทย ได้เข้าสู่ภาวะสงบสุข ประชาชนอยู่อย่างสบายใจ ปลอดภัย
การที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการห้ามชุมนุม ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกที่แม้จะถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญถูกจำกัดได้ด้วยเงื่อนไขกว้างขวาง ขึ้นอยู่กับการตีความและอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ จนประชาชนที่จะใช้เสรีภาพการชุมนุมไม่สามารถคาดหมายได้ว่าจะชุมนุมแบบใดจึงไม่ผิดต่อกฎหมาย
การเกษตร เหมือนจะดี ?
ยุคของ คสช. ภาคเกษตรไทยเป็นหนึ่งในเป้าสายตาของผู้ที่สนใจด้านการเมืองและนโยบายสาธารณะ เนื่องจากการกระทำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดำเนินนโยบายการเกษตรแบบประชานิยมทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงเกินจริง ผู้คนจึงสนใจว่า คสช. จะดำเนินนโยบายเกษตร และนำพาภาคการเกษตรไปสู่จุดใด
ซึ่งผลที่ได้คือมีการเผยข้อมูลดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ และดัชนีผลผลิตการเกษตร จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในยุครัฐบาล คสช. ราคาและผลผลิตมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม เมื่อเทียบกับวันแรกที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2557 ราคาสินค้าที่เกษตรกรขายได้ลดลงไปร้อยละ 9 ผลผลิตลดลงไปร้อยละ 9 เช่นกัน รวมแล้วรายได้ของเกษตรกรลดลงไปประมาณร้อยละ 18 โดยเฉพาะในปี 2560 ช่วงแรกราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มว่าจะดี แต่สุดท้ายกลับดิ่งลงต่อเนื่อง
นโยบายทวงคืนผืนป่าหรือคืนผลประโยชน์ให้ตัวเอง?
รัฐบาล คสช. ได้ออกนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าของไทย หลังพบว่าสถิติพื้นที่ป่าลดลงอย่างน่าใจหาย แต่เมื่อประกาศคำสั่งคสช. ฉบับที่ 64 โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ดำเนินการตามแผนในพื้นที่ชายขอบป่า ซึ่งสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง พื้นที่ดังกล่าวถูกบุกรุกโดยนายทุน ผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ อีกจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคยได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และทำกินอยู่แต่เดิมตามนโยบายของรัฐบาลในยุคก่อน ทำให้การยึดพื้นที่คืนไม่เพียงแต่จะได้ผืนป่ากลับมาจากนายทุนเท่านั้นและยังกระทบถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ระแวกนั้น เช่น กรณีของนายอาแม อามอ ชาวบ้านห้วยน้ำตื้น ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และทหาร ตัดฟันสวนยางพารา 3,200 ต้น ทุเรียน 208 ต้น และเงาะ โดยอ้างว่าบุกรุกป่า ขณะที่นายอาแมระบุว่า ครอบครองและทำกินพื้นที่นี้มานานกว่า 30 ปี และทำกินใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง จากความเดือดร้อนดังกล่าวทำให้ชาวบ้านบางส่วนจำเป็นต้องเดินทางมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
นโยบายทวงคืนผืนป่านั้น แม้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทุ่มงบประมาณและกำลังคน แก้ปัญหาจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม หลังมีการเผยภาพการบุกรุกที่ดินรัฐ เพื่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ จำนวน 45 หลัง กับอาคารชุดอีก 9 หลัง
แม้ว่ารัฐบาล คสช. จะมีผลงานเด่นในการบริหารบ้านเมือง แต่การกระทำหลายอย่างกลับไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งละเมิดสิทธิที่จะรู้ของประชาชน