ค่าฝุ่นละออง ชม. ปี 62 พุ่ง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งเเวดล้อม ชี้ สาเหตุมาจากสามปัจจัยหลัก

เรื่อง: ภารวี สุภามาลา / ปนัดดา ไชยศักดิ์
ภาพ: ปนัดดา ไชยศักดิ์

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ แสดงค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองในเชียงใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2559 – 2562 โดยค่าเฉลี่ยจะสูงในช่วงเดือนมีนาคม ด้านหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คาด สาเหตุมาจากปัจจัยด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และการเผา

จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่เกิดในจังหวัดเชียงใหม่มายาวนานกว่าสิบปี ระดับความรุนแรงที่เกิดในเดือนมีนาคม ปี 2562 ถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษรายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่บริเวณ ต. ช้างเผือก อ. เมือง จ. เชียงใหม่ แสดงข้อมูลในเดือนมีนาคมของปี 2559 พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 82 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg./m3) ปี 2560 ค่าฝุ่นละออง PM 10 ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 85 µg./m3 และค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 63 µg./m3 ในปี 2561 ค่าฝุ่นละออง PM 10 ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 107 µg./m3 และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 73 µg./m3 และในปี 2562 ค่าฝุ่นละออง PM 10 ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 130 µg./m3 และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ค่าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 95 µg./m3

หมายเหตุ: ในเดือนมีนาคม ปี 2559 ยังไม่มีการเก็บข้อมูลค่าฝุ่นละออง PM 2.5

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนของค่าฝุ่นละออง PM 10 และ PM 2.5 ในเดือนมีนาคมปี 2559-2562 มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการตรวจสอบพบว่า ค่าฝุ่นละอองสูงสุดจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยปี 2562 ค่าฝุ่นละออง PM 10 สูงสุดอยู่ที่ 557 µg./m3 และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงสุดอยู่ที่ 470 µg./m3 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 4 ปี

ด้าน ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช. ให้สัมภาษณ์ถึงปัจจัยที่ทำให้เชียงใหม่เกิดปัญหาฝุ่นละอองทุกปี โดยให้ข้อมูลว่า ปัจจัยที่สำคัญมีอยู่สามประการ ปัจจัยแรก คือ เรื่องของภูมิประเทศ เนื่องจากเชียงใหม่ภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ซึ่งแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนเป็นแอ่งที่มีขนาดใหญ่และมีภูเขาสูงล้อมรอบทุกด้าน ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดวิกฤติ เช่นเรื่องของไฟป่า การเผาชีวมวลจะทำให้เกิดมลพิษสะสมอยู่ในแอ่ง ระบายออกไปได้ยาก ปัจจัยที่สอง คือ ปัจจัยทางภูมิอากาศและปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมาส่งเสริมกันพอดีในช่วงฤดูแล้ง ทั้งเรื่องของความกดอากาศสูง ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมตัวของมลพิษในแอ่ง ประกอบกับบางปีเป็นปีที่มีความแล้งสูง เห็นได้จากช่วงปี 2562 นี้เป็นปีที่แล้งกว่าสองปีที่ผ่านมาทำให้เรื่องของเชื้อเพลิงมีมากขึ้น ปัจจัยที่สาม คือ การเผา มักจะเกิดในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก โดยเฉพาะการเผาชีวมวล ไม่ว่าจะเป็นจากพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ป่า ขณะที่ปีนี้แนวโน้มการเผาในพื้นที่ป่าเกิดมากกว่าในพื้นที่การเกษตร นับได้ว่าเป็นปีที่เชียงใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์

“สองปีที่แล้วจะไม่หนักเท่านี้ แต่ปีนี้ถือว่าค่อนข้างหนักเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 23 ที่ผ่านมา กลางวันมองไม่เห็นดวงอาทิตย์เหมือนทุกที เพราะมีฝุ่นควันปกคลุมหนาแน่นไปหมดเลย ปีนี้เป็นปีที่วิกฤติอีกปีหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาสิบกว่าปีที่มันเกิดขึ้นมา” ผศ.ดร.สมพรกล่าว

ผศ.ดร.สมพร ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหา โดยมีมาตรการระยะสั้น ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นพิษตัวนี้ ป้องกันตัวเอง โดยการใส่หน้ากาก N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ และให้ความคิดเห็นพิ่มเติมว่า การรณรงค์งดการเผาควรทำไปเรื่อย ๆ เพราะปัญหาหลักเกิดจากการเผา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และอาจต้องหาทางออกให้เกษตรกรว่าถ้าไม่เผาแล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง อาทิ มีมาตรการในการเก็บเกี่ยว เช่น อ้อย ที่ต้องเผาก่อนเพื่อทำให้การเก็บเกี่ยวง่ายขึ้น หรืออาจมีการส่งเสริมเรื่องของการใช้เครื่องจักร เช่น ให้เช่าเครื่องจักรในราคาถูก หรือให้ยืมโดยไม่คิดค่าเช่า ซึ่งเป็นมาตรการที่เห็นผลในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่วนพื้นที่ป่าคือปัญหาใหญ่ เพราะถ้าเกิดไฟป่าขึ้นมามันดับยาก และเจ้าหน้าที่ก็มีกำลังน้อย อีกทั้งเราต้องเข้มงวดในเรื่องของการติดตาม ตรวจสอบ จับกุม และรณรงค์ด้วย แต่ถ้าไฟป่าเกิดแล้วจริง ๆ อาจจะต้องมีเทคโนโลยีมาช่วย เช่น เรื่องของโดรน เรื่องของเครื่องบินที่จะสามารถใช้สารเคมีดับไฟได้เหมือนต่างประเทศ แทนที่จะใช้น้ำเพียงอย่างเดียว อาจจะต้องมีสารเคมีอะไรที่ช่วยดับไฟได้เร็วขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้ที่ต้องได้รับการพัฒนา และต้องเรียนรู้ในกรณีที่ไม่สามารถห้ามการจุดไฟได้ ส่วนระยะยาว เป็นเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด หากมองในภาคของสังคมเมือง ตัวเราก็เป็นส่วนทำให้เกิดมลพิษ ทั้งเรื่องของการจราจร ซึ่งขยายตัวขึ้นทุกปี เรื่องของพลังงานสะอาดที่จะใช้กับรถต่าง ๆ การคมนาคมที่เป็นสาธารณะ ส่วนรอบนอกเป็นเรื่องการจัดการเชื้อเพลิง เรื่องของการเผา การก่อสร้างตึกสูง ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพิ่มความชุ่มชื้น

ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการฉีดน้ำนั้น ผศ.ดร.สมพร ให้ข้อมูลว่าในทางทฤษฎี ฉีดน้ำไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นมีขนาดเล็ก ขณะที่ละอองน้ำมีขนาดใหญ่กว่า ไม่สามารถที่จะจับตัวละอองฝุ่นได้ ตัวฝุ่นละเอียดไม่สามารถถูกชะล้างได้ด้วยฝน ฝุ่นละเอียดจะมีการล่องลอยอยู่ยาวนานในบรรยากาศดีกว่า แต่สามารถกระจายตัวได้ดีด้วยลม ถ้าหากมีลมเกิดขึ้นฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้จะถูกพัดไปที่อื่นทำให้เจือจางลง เพราะฉะนั้นการฉีดน้ำอาจช่วยให้เกิดเพียงความชุ่มชื้น

นอกจากนี้ผศ.ดร.สมพร ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับแนวโน้มของปัญหาฝุ่นควันที่จะเกิดกับเชียงใหม่ในอนาคตไว้ว่า จะเกิดซ้ำเหมือนกันทุกปี เพราะยังไม่มีหนทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากการแก้ปัญหาทำได้เฉพาะภายในประเทศ แต่การเกิดไฟป่าไม่ได้เกิดเเค่เพียงในประเทศ มาตรการการควบคุมการเผาไม่สามารถครอบคลุมถึงพื้นที่การเผาทั้งหมดได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นมลพิษข้ามแดน เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องเป็นระดับภูมิภาค ประชาคมอาเซียนควรมีการนำปัญหานี้ขึ้นไปพูดคุยอย่างจริงจังในเรื่องของการแก้ปัญหาระยะยาวร่วมกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด