ตามโผ! เด็กมช. เลือกอนาคตใหม่เบอร์1 โพลชี้นักศึกษาเลือกจากพรรค เรียกร้องปชต.กลับคืน

เรื่อง : สรวิชญ์ บุญจันทร์คง / ปฏิภาณ ชั่งภู่
ภาพ : นราธร เนตรากูล / สรวิชญ์ บุญจันทร์คง

ย่านม.เชียงใหม่ เขต 1 อนาคตใหม่มาแรง ทิ้งคู่แข่งขาดลอย คาดกลุ่มนักศึกษาเทคะแนนให้ แม้พลาดเก้าอี้เพียงพันกว่าเสียง ผลสำรวจลูกช้างชัดพรรคการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจ พร้อมอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยแบบเดิมกลับมา

จากผลสำรวจพรรคการเมืองที่อยู่ในใจของนักศึกษา จากเฟซบุ๊กกลุ่ม “ลูกช้าง มช.” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ กว่า 3,000 คน อนาคตใหม่มาเป็นอันดับ 1 กว่าร้อยละ 70 ตามด้วยพรรคเพื่อไทยอีกร้อยละ 10 ซึ่งสอดคล้องกับผลการนับคะแนนในหน่วยที่นักศึกษามช. อยู่

นางสาวศุภรี ฉัตรกัลยารัตน์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ หมายเลข 9 คว้าคะแนนเสียงในพื้นที่ย่านมช. ไปอย่างท่วมท้น บริเวณหน่วยการเลือกตั้งที่ 123-127 ที่ตั้งอยู่ ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีสิทธิในเขตนี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่หอพักนักศึกษาของมช. ซึ่งทั้ง 5 หน่วยนี้ พรรคอนาคตใหม่ชนะขาดในทุกหน่วย ได้คะแนนกว่า 80% ของผู้มาใช้สิทธิ

          ผลสรุปคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกอบด้วยตำบลในเขตอำเภอเมืองทั้งหมด ผลปรากฏว่านางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครหมายเลข 6 จากพรรคเพื่อไทย คว้าชัยชนะไปได้ โดยเฉือนผู้สมัครหน้าใหม่อย่างคุณศุภรีไปเพียงแค่พันกว่าคะแนนเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความสูสี ใกล้เคียงกันของพรรคเก่าแก่เจ้าของพื้นที่ กับพรรคการเมืองหน้าใหม่

          แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่ สำหรับตัวเลขคะแนนของพรรคน้องใหม่ที่ลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก อนาคตใหม่สร้างฐานเสียงเป็นกลุ่มประชาชนที่เคยเลือกตั้งครั้งแรก หรือ first voter ที่มักนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารอย่างแพร่หลาย ด้วยอุดมการณ์ของพรรค นโยบาย และบุคลิกของหัวหน้าพรรค ทำให้เป็นที่ดึงดูดของสายตาคนในวัยนี้ได้ไม่น้อย

          พรรคอนาคตใหม่ไม่เพียงจะโกยคะแนนเฉพาะในพื้นที่ของมช. เท่านั้น สำหรับหน่วยการเลือกตั้งตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มาแรงไม่แพ้กัน จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ การสร้างกระแสในสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ออกสื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย แนวคิดสมัยใหม่ ชูโรงการก้าวพ้นการเมืองแบบเดิม ส่งผลให้พรรคสีส้ม เข้าไปนั่งในใจนักศึกษา และกลุ่มเลือกตั้งครั้งแรกเป็นจำนวนมาก จนคว้าคะแนนจากทั่วประเทศไปได้เกือบ 6 ล้านคะแนน เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 3 แบบพลิกโผทุกสำนัก

          สำหรับการเลือกตั้งที่เว้นว่างไปกว่า 8 ปี ทำให้เกิดกลุ่มก้อนใหม่ทางการเมืองขึ้นมา ทั้งกลุ่มขั้วเดิมที่แยกออกมาตั้งพรรคใหม่ตามแผนการแตกแบงก์พันอย่าง ไทยรักษาชาติ และเพื่อชาติ ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็เป็นอดีตกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แยกทางมาก่อตั้งพรรค โดยชูโรงนายเก่าขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ รวมไปถึงกลุ่มหน้าใหม่ทางการเมืองอย่างพรรคเสรีรวมไทย ของพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส และพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส่งผลให้การเมืองในเลือกตั้งครั้งนี้ เข้มข้นเป็นอย่างมาก

          ช่วงต้นเดือนมีนาคม ก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ประมาณ 3 สัปดาห์ สำนักข่าวอ่างแก้วได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษา ว่ามีมุมมองอย่างไรต่อการเลือกตั้งในรอบ 8 ปีครั้งนี้ และยังเป็นครั้งแรกของนักศึกษาทุกคน เริ่มต้นที่ประเด็นแรก คือ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลปรากฏว่า นักศึกษาเลือกจากพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ ร้อยละ 56.1 เลือกจากนโยบายหลัก ร้อยละ 34.1 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 9.8

          ประเด็นต่อมา คือ สอบถามว่าในขณะนั้น (ก่อนการเลือกตั้งประมาณ 3 สัปดาห์) มีพรรคการเมือง หรือสส. ในใจที่จะเลือกแล้วหรือยัง นักศึกษาตอบว่ามีแบบแน่นอนแล้ว ร้อยละ 56.1 มีแล้วแต่ยังไม่มั่นใจนัก ร้อยละ 37 และยังไม่มีใครในใจเลย ร้อยละ 6.9

          ส่วนประเด็นสุดท้าย เป็นการสอบถามความต้องการเห็นเป็นผลงานแรกของรัฐบาลชุดใหม่ นักศึกษาเลือกการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมาเป็นอันดับ 1 กว่าร้อยละ 39.1 การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจ ร้อยละ 34.1 ความเท่าเทียมกันในสังคม ร้อยละ 14.5 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 12.3

          นายสมคิด จิตดำริห์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประสาศนศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 และประธานชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นจากผลสำรวจครั้งนี้ว่า มีปัจจัยหลักอยู่ 3 ประการ ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ สิ่งแรกคือ นโยบายของพรรคการเมือง ต่อมาคือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และการชื่นชอบที่พรรคการเมือง ซึ่งเดิมทีการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นรูปแบบการเลือก 2 ใบ คือ คนที่รักและพรรคที่ชอบ ทำให้ประชาชนสามารถเลือกแยกกันทั้งสส. และพรรคการเมืองได้ แต่ข้อกำหนดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ระบุว่าให้เลือกได้แค่ใบเดียวเท่านั้น จึงทำให้ปัจจัยด้านพรรคการเมืองนั้น มีผลต่อการตัดสินใจเลือกมากที่สุด ตรงตามโพลที่ออกมาในครั้งนี้

          สำหรับโพลข้อต่อมา ที่นักศึกษามีพรรคการเมืองในใจแล้วรวมกันกว่าร้อยละ 90 หรืออาจสามารถแบ่งได้ว่า มั่นใจแน่นอนแล้ว ร้อยละ 56 และยังไม่มั่นใจมากนัก ร้อยละ 37 ประธานชมรมประชาธิปไตยมองจากตัวเลขเหล่านี้ว่า การเมืองเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นในกลุ่มคนชนชั้นกลาง ซึ่งมีนักศึกษาประกอบอยู่ด้วย คนกลุ่มนี้เอง มีพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายรูปแบบ โดยช่องทางหลักคงหนีไม่พ้น สื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) อาทิ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ทำให้พวกเขาสามารถพิจารณาได้ว่า ตนเองต้องการเห็นสิ่งใดจากพรรคการเมือง ต้องการให้สังคมก้าวไปในทิศทางไหน และสื่อที่เป็นตัวกลางในการกระจายข้อมูล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้นักศึกษามีพรรคการเมืองในใจแล้ว ก่อนจะถึงการเลือกตั้งเกือบเดือน และเผยว่าอีกกว่าร้อยละ 10 ที่ยังไม่มีพรรคการเมืองในใจ อันเนื่องมาจาก ความหวาดกลัวต่อการเลือกตั้ง คิดว่ายังมีความไม่แน่ไม่นอน และอาจจะกลับมาสู่วังวนเช่นเดิมอีก จึงเป็นเหตุให้ยังไม่กล้าตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในขณะนั้น

          นายสมคิดมองประเด็นสุดท้าย ในเรื่องความคาดหวังต่อผลงานชิ้นแรกของรัฐบาลชุดใหม่ว่า การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่นักศึกษาให้ความสำคัญ เพราะพวกเขาเติบโตมาในยุคที่ปกครองโดยคณะรักษาความสงบของลุงตู่นานกว่า 5 ปี ความอัดอั้นตันใจที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ทำให้เรียกร้องให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ส่งผลให้พรรคการเมืองใดที่ขายอุดมการณ์ประชาธิปไตย มักจะมาแรงในกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับโพลที่สำรวจพรรคการเมืองในใจของนักศึกษานั่นเอง สำหรับด้านอื่น ๆ นายสมคิดชี้ว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลพึงกระทำ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมกันในสังคม

          “ในความคิดของผมกลุ่ม First Voter หรือกลุ่มที่เลือกตั้งครั้งแรก คือความหวังในการพัฒนาอย่างแท้จริง พวกเขาเติบโตมากับการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ถึงข้อผิดพลาดในการบริหารงานในรัฐบาลที่ผ่านมา พวกเขารับรู้บุคลิกการปราศรัยในที่สาธารณะของผู้นำประเทศ พวกเขารู้จักผู้ลงสมัครเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้ที่มีจำนวนถึง 7 ล้านคน จะไม่มีทางถูกครอบงำจากใครได้อย่างแน่นอน และฝากให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงการเลือกตั้งว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงหน้าที่ แต่เป็นสิ่งที่อยู่ใน Common Sense ของประชาชนทุกคน” ประธานชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวทิ้งท้าย


” ในความคิดของผมกลุ่ม First Voter หรือกลุ่มที่เลือกตั้งครั้งแรก คือความหวังในการพัฒนาอย่างแท้จริง “

สมคิด จิตดำริห์ ประธานชมรมประชาธิปไตย มช.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด