PM 2.5 ‘กรุงเทพฯ’ vs. ‘เชียงใหม่’

เรียบเรียง: กานต์ธิดา ตากาศ / กัญญ์ฐพิมพ์ ตุ้ยแก้ว

ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันปัญหาฝุ่นควันยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้แถมยังมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นสูงไปอีก จากกรณีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กลายมาเป็นปัญหาระดับประเทศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และมีความเสี่ยงถึงขั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพราะอากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง เลยจำเป็นต้องสูดอากาศที่เป็นพิษเข้าไปโดยไม่มีอะไรป้องกัน

เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันยังไม่ได้รับการแก้ไขจากทางภาครัฐที่ดีพอ ทำให้เกิดการเรียกร้องจากประชาชนต่อรัฐบาลให้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ‘เชียงใหม่’ เป็นอีกหนึ่งในจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการวัดค่าของ AirVisual เว็บไซต์ที่ตรวจสอบและรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลก ซึ่งค่าดัชนีคุณภาพอากาศในเชียงใหม่นั้นครองสถิติอันดับ 1 ของโลก แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ในตอนแรกกลับไม่มีมาตรการป้องกันและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงอันตรายต่อสุขภาพ และยังกล่าวอีกว่าปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ในขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรงจนต้องประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ เนื่องจากการประกาศเขตภาวะภัยพิบัติ ในกรณีที่ต้องใช้งบประมาณ ไม่สามารถใช้ได้ ต้องมีระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการใช้งบประมาณเร่งด่วนในกรณีภัยพิบัติ ขณะนี้ทางจังหวัดได้สั่งการไปยังท้องถิ่นทุกแห่งแล้ว ให้ใช้งบประมาณของท้องถิ่นในการดูแลแก้ไขปัญหาไฟป่า ภายหลังได้มีการแถลงเพิ่มเติมด้วยว่า การประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน เป็นการประกาศเพื่อนำเอางบประมาณมาใช้ แต่ขณะนี้ทางจังหวัดยังมีงบประมาณสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน จึงยังไม่เข้าองค์ประกอบของประกาศดังกล่าว ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับการไม่ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติเนื่องจากหวั่นกระทบต่อการท่องเที่ยวนั้น ผู้ว่าฯ เชียงใหม่เผยว่า อาจจะส่งผลกระทบเล็กน้อยและในระยะสั้นเท่านั้น

คำถามมากมายเกิดขึ้นภายในใจของชาวเชียงใหม่ ถึงมาตรการในการจัดการมลพิษของทางรัฐบาลว่า ทำไมการจัดการปัญหาฝุ่นของกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ถึงมีความแตกต่างกัน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีการจัดการที่รวดเร็ว ทั้งการสั่งให้โรงเรียน และมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หยุดเรียนหลังมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ( AQI ) พุ่งสูงขึ้นในระดับสีแดง (150-200) และยังมีการแจกหน้ากากอนามัยกว่า 10,000 ชิ้น จากภาครัฐ โดยผู้บริหารกรุงเทพฯ ได้ลงพื้นที่แจกตามจุดต่าง ๆ อีกทั้งการประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญเนื่องด้วยปัญหามลพิษทางอากาศ กลับกันที่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงนิ่งเฉยและไม่ออกมาตรการใด ๆ จนกระทั่งมีการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงมีการประกาศหยุดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนและนักศึกษา และผู้ว่าฯ เชียงใหม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวโดยการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน แต่หน้ากากอนามัยที่แจกนั้นไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ทำให้กลุ่ม #SaveChaingMai ต้องออกมาแจกหน้ากากอนามัยที่สามารถกันฝุ่น PM 2.5 ได้ กว่า 10,000 ชิ้น ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ตัวเมือง ต่อมาผู้ว่าฯ เชียงใหม่ได้ออกคำสั่ง 4 ฉบับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมฉีดพ่นน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและทำความสะอาดถนนสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งให้ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ไปดำเนินการตรวจเพื่อควบคุมรถที่ปล่อยควันดำ การตรวจสอบควบคุมเขตก่อสร้างและโรงงานต่าง ๆ ในเรื่องการปล่อยมลพิษ และการตรวจการห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด และวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และสั่งการลดฮอตสปอตหรือจุดความร้อนใน ๗ วันเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น แต่ยังคงยืนยันไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติและเน้นย้ำให้ประชาชนมีจิตสำนึก พร้อมแนะให้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมเพื่อหวังลดฝุ่นควันในระยะยาว และยังกล่าวอีกว่าอย่าใจร้อน ทั้งที่หน่วยค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในเชียงใหม่จะสูงจนเข้าแถบระดับสีม่วง (201-300) ซึ่งอยู่ในขั้นอันตรายต่อสุขภาพ

ในมาตราที่ 3 พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 ได้กล่าวว่า สวัสดิการสังคม’ หมายถึง การจัดบริการทางสังคมเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจําเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น สุขภาพอนามัย กระบวนการยุติธรรมและบริการทางสังคมทั่วไป โดยคํานึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ แต่เหตุใดประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและสวัสดิการสังคมที่เท่าเทียมกัน

เห็นได้ชัดจากมาตราการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดเชียงใหม่ ทางกรุงเทพฯ มีการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และยังถือเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาล ทุกภาคส่วน และประชาชนร่วมมือกันทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เร็วที่สุด แต่ในทางกลับกันปัญหาฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหา แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จากการแก้ไขปัญหาที่ดูไม่เท่าเทียมกันนี้ ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดภาครัฐถึงแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ทั้งที่ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ดังนั้นภาครัฐจึงควรจะให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดของประเทศไทยก็ตาม

ข้อมูลจาก AirVisual, cmaqhi.org, news.thaipbs.or.th, thairath.co.th, prachachat.net, พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๐

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด