ความสุขครึ่งปอด

เรื่อง: อัครชล อินทร์อิ่ม
ภาพ: รัญพิรชา ซางหน่อ / Oil Kanyaporn

ในสภาวะที่ความสุขหลายอย่างสามารถซื้อได้ด้วยเงินทอง แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ง่าย แต่จะแน่ใจได้หรือว่านั่นคือความสุขอย่างแท้จริง ในทางกลับกันยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ขวนขวายหาความสุขที่เงินไม่สามารถซื้อได้ ความสุขที่ได้จากการลงมือทำ เป็นความสุขที่ช่วยต่อลมหายใจเพื่อนมนุษย์ แม้จะมีความสุขเพียงครึ่งปอดก็ตาม

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน หากพูดถึงฮีโร่หรือผู้ผดุงความยุติธรรมคงต้องนึกถึงกลุ่มคนสวมใส่ชุดหลากสีสัน ไม่ก็กลุ่มผู้ใช้พลังแห่งดวงจันทร์ลงทัณฑ์พวกเหล่าร้าย แต่นั่นก็เป็นเพียงในจอแก้วที่เมื่อเรื่องราวจบลง โลกก็กลับคืนสู่ความสงบสุข และถึงตอนจบของการต่อสู้ในที่สุด

แต่ในโลกของความเป็นจริง ภัยร้ายกลับยังไม่จบลง ปีศาจที่น่ากลัวนั่นก็คือฝุ่นควันได้เข้ารุกราน และกัดกินอากาศอันบริสุทธิ์ ฮีโร่ที่พร้อมจะปราบภัยร้ายเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากคนอื่นคือ จิตใจที่รักผืนป่า ชื่อของเขาคือ ผู้พิทักษ์แห่งขุนเขา ‘เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า’

สัญญาณขอความช่วยเหลือ

ภาพกลุ่มอาสาสมัครดับไฟป่า ขณะปฏิบัติหน้าที่

เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ดังขึ้นยามตีสาม เป็นสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่ผู้เป็นสมาชิกหลักของครอบครัวต้องตื่นขึ้นจากนิทรา หยิบเสื้อผ้าสุดทะมัดทะแมงขึ้นมาใส่ สวมรองเท้าคู่โปรดหน้าบันได บิดรถคู่ใจไปถึงที่เกิดเหตุให้ทันท่วงที จากชายหนุ่มธรรมดา เป็นผู้กำจัดไฟป่ารักษาความสงบแห่งขุนเขา

เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า เป็นกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่น เมื่อมีเหตุด่วนครั้งหนึ่งจึงจะออกปฏิบัติการขจัดฝุ่นควันให้ทันท่วงที ก่อนที่ภูเขาจะกลายเป็นทะเลเพลิง อาสาสมัครที่ได้นั้นมักเป็นชาวบ้านที่มีบ้านพักอยู่บนที่ราบสูง มีทั้งคนไทยและคนไทยภูเขา ที่พร้อมสละเวลาเพื่อมาปกป้องความเขียวชอุ่มแห่งขุนเขา ซึ่งสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ เชียงใหม่ ถือเป็นอีกฐานทัพสำคัญที่รณรงค์ ให้ความรู้ และเฝ้าระวังเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น รายได้ที่เจ้าหน้าที่ได้รับเป็นค่าตอบแทน หากเทียบกับค่าครองชีพนั้นเป็นจำนวนที่น้อยนิด ตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ

ทางเลือกของผู้พิทักษ์

ภาพเหตุการณ์ไฟป่า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 

ไฟที่กำลังกลืนกินสีเขียวของต้นไม้ ให้กลายเป็นเปลวสีแดงร้อนแรง ไม่มีท่าทีว่าจะมอดลงเมื่อไหร่ กองเพลิงตรงหน้าอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ว่าจะดับไฟทางตรงหรือทางอ้อม การดับไฟทางตรงคือการฉีดน้ำเข้าไปปะทะกับกองเพลิงโดยตรง ข้อดีคือใช้เวลาน้อย แต่ข้อเสียคือมีควันเสียที่คละคลุ้งปกคลุมทั่วภูเขา และไม่ทราบบริเวณพื้นที่ความเสียหาย หรือจะเลือกการดับไฟทางอ้อม คือการสร้างแนวกันไฟในทิศทางเหนือลม แล้วจุดไฟให้เข้าไปปะทะกัน ข้อเสียคือใช้เวลานาน แต่ข้อดีคือกำหนดพื้นที่ความเสียหายได้แน่นอน มีปริมาณมลพิษที่น้อย ขึ้นอยู่กับการประเมินของเจ้าหน้าที่ ณ ขณะนั้น

แม้อุณหภูมิของกองเพลิงจะสามารถทำให้ผิวหนังพุพอง รวมถึงควันจากการเผาไหม้ ยังเป็นอากาศที่ร่างกายไม่ต้องการ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ยอมเสี่ยงภัยเพื่อรักษาปอดธรรมชาติ แต่ปอดตัวเองกลับต้องรับควันไฟแทน ยอมเสี่ยงที่จะเจอฝันร้าย เพื่อให้ชาวบ้านได้หลับฝันดี ยอมเสี่ยงอันตราย เพื่อให้ภูเขาบาดเจ็บน้อยที่สุด

หรือแท้จริงแล้วปีศาจร้ายอาจไม่ใช่ฝุ่นควัน แต่กลับเป็นมนุษย์ ที่ทำลายแหล่งฟอกอากาศธรรมชาติ จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนโดยทั่ว เพียงแค่ต้องการผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ชาวบ้านเลือกวิธีเผาป่า เพราะสามารถทำให้หาของป่าได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็หาความทรุดโทรมทางธรรมชาติได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

จิตใจที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง

ก่อนหน้านี้ได้มีฮีโร่ที่ปกป้องธรรมชาติคนหนึ่งชื่อ คุณสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติและนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ ชายผู้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจ ให้ความสำคัญและปกป้องผืนป่ากับสัตว์ป่า เป็นผู้สร้างบทเรียนสำคัญให้กับข้าราชการไทย ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็ก ๆ ผู้นี้ ได้กลายเป็นบุคคลในตำนาน ภายหลังการยิงตัวตายในป่าห้วยขาแข้ง การตายของเขาได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างรุนแรง มีผู้คนมากมายพากันตั้งคำถามว่า เหตุใดหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงตัดสินใจยิงตัวตาย คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง แต่สำหรับคุณสืบ นาคะเสถียรแล้ว เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่ามากกว่าตัวเองและครอบครัวเสียอีก เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง เขาวิ่งไปทั่วเพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์และทำลายป่าเมืองไทย แต่ไม่มีใครสนใจเสียงตะโกนของเขา ไม่มีใครอยากได้ยิน

เช่นเดียวกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่ากลุ่มนี้ แม้จะใช้สื่อหลากหลายช่องทางในการขอความช่วยเหลือ ให้ประชาชนหยุดการกระทำนั้นเสีย แต่เหมือนกับว่าข้อความนั้นกลับไปไม่ถึงพวกเขา สิ่งที่ต้องทำคือการหยุดความหวังไว้ชั่วคราว วางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในมือ แล้วเปลี่ยนเป็นถืออุปกรณ์ดับไฟป่าแทน เพราะหากรอให้ใครมาช่วยเหลือ จะมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับความหวังที่ไม่ทราบว่าจะสมหวังหรือไม่

เราต่างหาคุณค่าของการเกิดมาที่แตกต่างกันไป บ้างก็มองว่าคุณค่าของชีวิตคือมีอายุที่ยืนยาว บ้างก็มองว่าคือการสร้างประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ ความสุขที่เต็มร้อย แต่สร้างประโยชน์ได้น้อย กับความสุขที่น้อย แต่สร้างประโยชน์ได้มากมาย เราเป็นผู้กำหนดคุณค่าด้วยตนเอง สำหรับเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ แม้จะเป็นความสุขเพียงครึ่งปอด รักษาอากาศบริสุทธิ์ให้กับโลก โดยที่ตนสูดอากาศบริสุทธิ์ไปเพียงเล็กน้อย แต่สำหรับพวกเขามันเพียงพอแล้ว

ผู้พิทักษ์ความสงบสุขของโลกหรือฮีโร่ คือผู้ที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ในโอกาสที่ตนทำได้ และการดับไฟป่าก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เขาทำได้ เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า มนุษย์ธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อขุนเขา แหล่งกำเนิดชีวิต ไม่มีพลังวิเศษ ไม่สามารถเหาะเหินได้ มีเพียงสองมือเปล่า เป็นฮีโร่ที่ธรรมดาที่สุด แต่พวกเขาคือคนที่รักผืนป่าที่สุด

จุดเริ่มต้นของผู้ช่วยฮีโร่

ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน เป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดไฟป่าสูงกว่าช่วงอื่นๆ เนื่องจากสภาพอากาศแห้ง ลมพัดแรง ประกอบกับต้นไม้ใหญ่จำนวนมากผลัดใบ หญ้าแห้งตาย โดยสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์จุดไฟ เพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ รวมถึงการทำไร่เลื่อนลอย เมื่อเกิดเพลิงไหม้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุม

โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้และภูเขาสูง ประกอบกับปัญหาหมอกควันที่เป็นผลกระทบมาจากไฟป่า ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะการใช้รถใช้ถนนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น ซึ่งในหลายเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทราบได้อย่างทันท่วงที ว่าเกิดเหตุร้าย ณ ที่ใดบ้าง

ดังนั้น สำนักข่าวอ่างแก้วจึงขอแนะวิธีป้องกันไฟป่าเบื้องต้นที่เราทุกคนสามารถช่วยกันเพื่อป้องกันมิให้เกิดไฟป่าได้ ดังนี้

  1. ดูแลพื้นที่ริมแนวชายป่า เก็บกวาดพื้นที่ให้โล่งเตียน อย่าให้มีใบไม้แห้ง กิ่งไม้แห้ง หรือหญ้าแห้งกองสุม เพราะหากเกิดไฟไหม้จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ไฟปะทุและลุกลามอย่างรวดเร็ว
  2. สร้างแนวกันไฟล้อมรอบพื้นที่ เพื่อสกัดไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น หมั่นเก็บกวาดและกำจัดเชื้อเพลิงจำพวกใบไม้ กิ่งไม้แห้งและหญ้าที่ทับถมบนแนวกันไฟ และระวังมิให้ต้นไม้ล้มพาดขวางแนวกันไฟ หากเกิดไฟไหม้ไฟจะลุกลามผ่านข้ามแนวกันไฟไปได้
  3. เพิ่มความระมัดระวังการจุดไฟในป่าเป็นพิเศษ ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนหญ้าแห้ง หากก่อกองไฟหรือประกอบอาหารในป่า ควรควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด หลังใช้งานเสร็จแล้วควรดับไฟให้สนิททุกครั้ง
  4. หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมที่เป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่า เช่น เผาขยะหรือตอซังข้าวบริเวณริมข้างทาง เป็นต้น เพราะนอกจากจะมีโอกาสที่ไฟจะลุกลามเป็นไฟป่าแล้ว ยังทำให้ควันไฟปกคลุมเส้นทาง หากจำเป็นต้องจุดไฟหรือเผาขยะ ควรควบคุมอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมถังน้ำหรือทรายไว้ใกล้ๆ จะได้ดับไฟได้ทัน ในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกให้ใช้วิธีไถกลบหรือนำไปทำปุ๋ยหมักแทนการเผา

ผลกระทบจากไฟป่ายังทำให้เกิดปัญหาหมอกควันไฟปกคลุมพื้นที่ ซึ่งก็คือปัญหา PM 2.5 ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย กรณีอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมเพื่อความปลอดภัย ดังนี้

  1. ประชาชนควรสวมใส่หน้ากากอนามัยและแว่นตาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อลดปริมาณการสูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย และป้องกันการระคายเคืองตา รวมถึงดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเป็นพิเศษ
  2. สำหรับการขับรถช่วงที่มีหมอกควันปกคลุม ผู้ขับขี่ควรเปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอกจะช่วยให้มองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่แซงหรือเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ที่สำคัญต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ให้มากขึ้น หากทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดีเนื่องจากมีหมอกควันปกคลุมเส้นทางจำนวนมาก ควรจอดพักริมทางในบริเวณที่ปลอดภัย และรอจนหมอกควันเบาบางลงหรือสามารถมองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน ค่อยขับรถต่อไป

การที่เราสามารถช่วยป้องกันการเกิดเหตุไฟป่า หรือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากไฟป่าได้ในระดับหนึ่งนั้น เป็นอีกตัวช่วยลดความเหน็ดเหนื่อยของเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า สมมติว่าจากเหตุการณ์ 10 ครั้ง เราป้องกันเหตุไฟป่าเบื้องต้นได้ 1 ครั้ง ก็สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่หายเหนื่อยได้

สุดท้ายนี้ ขอฝากให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่อาศัยตามแนวชายป่า เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไฟในป่าให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และเป็นการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา หากพบเห็นเหตุการณ์ไฟป่า สามารถแจ้งสายด่วนสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า 1362 หรือสถานีควบคุมไฟป่าในพื้นที่นั้น ๆ เพราะสายตาของประชาชนคือส่วนช่วยที่สำคัญ ในการป้องกันป่าจากอัคคีภัย

ข้อมูลจาก thaihealth.or.th, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด