ฝุ่นนี้มีทางแก้

เรียบเรียง: พิรัชต์นารา ตติยพาณิชย์

หลายประเทศทั่วโลกเคยเผชิญกับปัญหามลพิษจากฝุ่นขนาดเล็กอยู่หลายครั้ง จนเกิดการตระหนักรู้นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถช่วยรักษาสุขอนามัย และการแก้ปัญหาที่ (ทางรัฐบาลของประเทศคิดว่า) เหมาะสมกับประเทศของตนเองได้ อ่างแก้วพลัสจึงขอนำเสนอวิธีแก้ปัญหาของ 5ประเทศที่น่าสนใจในการนำมาเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย

1.   ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กรุงปารีสพยายามต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศมาตลอด ทางการกำหนดโทษปรับสำหรับรถที่ไม่ติดสติ๊กเกอร์ Crit’Air ซึ่งระบุระดับการปล่อยมลพิษ รวมถึงระยะเวลาการใช้งานของรถ ตามโครงการส่งเสริมการใช้พาหนะมลพิษต่ำ อีกทั้งยังใช้มาตรการห้ามรถรุ่นเก่าที่ผลิตก่อนปี พ.ศ. 2540 และรถที่ใช้น้ำมันดีเซลที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี พ.ศ. 2544 ขับเข้าย่านเมืองหลวง ในขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บริการรถไฟฟ้า ปั่นจักรยาน และการเดินเท้า

2.   ประเทศอังกฤษ

รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศยุทธศาสตร์อากาศสะอาด(Clean Air Strategy) ไปเมื่อปีพ.ศ. 2561 เนื่องจากในปัจจุบันหลายเมืองในประเทศอังกฤษมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 เมืองต่าง ๆ ทั่วอังกฤษจะต้องมีค่าฝุ่นต่ำกว่าที่ WHO กำหนด เริ่มจากลดการใช้เชื้อเพลิงที่ทำจากไม้และถ่านหินในทุกพื้นที่ทั้งกลางแจ้งรวมถึงในครัวเรือน และอีกปัญหาคือการระเหยของก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดอนุภาคมลพิษที่ถูกลมพัดพาไปยังบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นได้ รัฐบาลจึงออกมาตรการกำหนดให้ใช้วิธีทำเกษตรที่ส่งผลให้มีการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียน้อยลง โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือในการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะจำกัดการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียได้ อีกทั้งทางรัฐบาลอังกฤษยังเชื่อว่า การถอนตัวจากสหภาพยุโรปจะทำให้สหราชอาณาจักรดำเนินการเเก้ปัญหาฝุ่นต่อไปได้ดีขึ้น เนื่องจากมีอิสระในการดำเนินงาน

3.   ประเทศเกาหลีใต้

ประเทศเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นควันเป็นอย่างมาก ได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการลดและจัดการฝุ่นละออง เมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้จะมีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้ประชาชนใช้ขนส่งมวลชนได้ฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล อีกทั้งกำหนดปริมาณการปล่อยมลพิษของโรงงานทั่วประเทศ นอกจากนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ได้ดำเนินโครงการที่นำโดรนติดกล้องบินสำรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจสอบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมใดลักลอบปล่อยควันเสีย ซึ่งเป็นที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบผู้ลักลอบปล่อยควันเสียได้ดีกว่าการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน และสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมากคือ การที่รัฐบาลออกแอปพลิเคชันอัพเดทสถานการณ์ฝุ่นควันในแต่ละพื้นที่ให้ทันต่อเหตุการณ์ พร้อมคำประกาศและแจ้งเตือน ทั้งยังคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสุขอนามัยสำหรับใช้ชีวิตร่วมกับฝุ่นขึ้นมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอบที่สามารถดูดฝุ่นขนาดเล็กออกจากเครื่องแต่งกายได้ หรือออกแบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถคาดการณ์ และรายงานปริมาณฝุ่นควันได้อย่างทันท่วงที

4. ประเทศจีน

เป็นประเทศที่ถึงกับประกาศสงครามกับปัญหาฝุ่นควัน เนื่องจากทางรัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กให้เป็นปัญหาระดับชาติ โดยมีการออกนโยบาย และแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัด ด้านนโยบายที่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปได้แก่การตั้งทีมกำจัดควันพิษ เพื่อตระเวนสำรวจห้ามประชาชนปิ้งย่างกลางแจ้ง และสั่งห้ามขายอาหารบนท้องถนน รวมถึงการเผาใบไม้ทุกชนิด ส่วนนโยบายทางภาคเอกชนนอกจากจะช่วยลดค่ามลพิษทางอากาศแล้วยังเป็นการกำจัดกระบวนการเผาผลาญพลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วยทั้งการสั่งปปิดโรงงานที่ใช้ถ่านหิน, เก็บภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม12 หยวนต่อหน่วยการปล่อยมลพิษทางอากาศ และระงับโครงการก่อสร้าง ซึ่งจากมาตรการของรัฐบาลจีนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ได้ส่งผลให้ค่า PM ลดลงได้ถึง 3.5 ต่อปี

5. โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

หัวใจหลักของการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เป็นมลพิษร้ายแรงทางอากาศของเมืองโคเปนเฮเกน คือการให้ความสำคัญกับการใช้รถจักรยานแทนรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งแนวคิดของการใช้จักรยานนี้เป็นการให้ประชาชนคิดมูลค่าของจักรยานเทียบกับรถยนต์ที่มีต่อชุมชน โดยการขับรถยนต์ส่วนตัวเป็นระยะทาง 1 ไมล์ให้มูลค่ากับชุมชนประมาณ 0.22 ดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่การขี่จักรยานเป็นระยะทาง 1 ไมล์ให้มูลค่ากับชุมชนเพียง 0.20 ดอลล่าสหรัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้รถจักรยานให้มูลค่าต่อชุมชนมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว

อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศล้วนแล้วแต่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป หวังว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นควันมากขึ้น รวมถึงสามารถคิดวิธีแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็นได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของคนในชาติ

อ้างอิง: bbc.com, enterpriselab.com, forbesthailand.com, greenpeace.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด