อาจารย์ มช. ดำเนินโครงการแก้วิกฤตฝุ่นควันเชียงใหม่

เรื่อง: เบญญาภา ตานุ / พิทยรัศมิ์ เครือคำปลิว
ภาพ: เบญญาภา ตานุ / พิทยรัศมิ์ เครือคำปลิว / นุศรา คุณยศยิ่ง

อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินโครงการแก้ปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมแนะมาตรการรับมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ปัญหาฝุ่นควันกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาป่า ไฟไหม้ป่า การเผาขยะจากโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดฝุ่นควัน ซึ่งกลุ่มควันเหล่านี้ยังส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ

ผศ.รด.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไร้หมอกควันสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน

ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หัวหน้าโครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไร้หมอกควันสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน (Haze Free Country Network in Upper ASEAN) ที่ดำเนินการภายใต้แผนวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) โดยโครงการดังกล่าว ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน ลงพื้นที่ให้ความรู้ สร้างความตระหนักกับกลุ่มชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า เครื่อง Dust Boy เครื่องวัดคุณภาพอากาศภาคประชาชน ที่สามารถวัดค่าฝุ่นในอากาศทั้ง PM 10 และ PM 2.5 ได้อย่างแม่นยำไปติดตั้ง เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถทราบระดับคุณภาพอากาศเป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่า มีค่ามากหรือน้อย เพื่อให้เกิดความตระหนัก การจะแก้ปัญหาฝุ่นควันได้ดีที่สุดจำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือของคนในพื้นที่ เพราะโครงการไม่สามารถลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ และที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเป็นแม่ข่ายสำคัญที่ช่วยส่งต่อข้อมูลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้ช่วยลดอัตราการเผา อย่างเช่น กรณีที่สิงคโปร์เคยทำสำเร็จมาแล้ว จากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไร่ปาล์ม ประเทศอินโดนีเซีย โดยคนสิงคโปร์ทำการต่อต้าน ด้วยวิธีการไม่บริโภคของจากบริษัทที่เผาปาล์ม รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายเพื่อช่วยในการคลี่คลายปัญหา ซึ่งรูปแบบการจัดการปัญหาของสิงคโปร์นี้สามารถนำมาปรับใช้กับภาคเหนือได้ แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่รัฐบาลต้องเป็นแกนนำหลัก ในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านจนนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคจนสามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างแท้จริง

โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการเป็นปีแรก ในลักษณะของการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย (U to U) จากนั้นพัฒนาเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาล (G to G) โดยเริ่มในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางภาคเหนือก่อน แล้วจึงนำโมเดลขยายลงไปยังทางภาคใต้ในปีถัดไป ต่อมาจะนำโครงการไปสู่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงทางตอนใต้ ซึ่งจะใช้แผนการดำเนินงานเดียวกันทุกประเทศ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การแก้ไขจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา คาดว่าจะเห็นผลได้ใน 3-4 ปีข้างหน้า

ผศ.ดร.ภาสกร แช่มเจริญ ผู้ขับเคลื่อนและพยายามแก้ไขปัญหาฝุ่นควันมานานกว่า 5 ปี

ด้าน ผศ.ดร.ภาสกร แช่มเจริญ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ผู้ริเริ่ม ‘โครงการส่งต่อลมหายใจ สู้ภัยฝุ่นควัน’ ชี้ให้เห็นถึงเกณฑ์ตัวเลขค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ว่า แท้จริงแล้วจังหวัดเชียงใหม่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่มามากกว่า 10 ปี แต่ที่เพิ่งเห็นค่าตัวเลขอยู่ในเกณฑ์สีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) เนื่องจากปี 2562 นี้ ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน ละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อย่างหนัก ทางกรมควบคุมมลพิษจึงได้ปรับนำเอา ฝุ่น PM2.5 เข้าไปอยู่ในสูตรคำนวณค่า AQI ซึ่งแต่เดิมมีเพียง 5 ชนิด ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เท่านั้น ปัจจุบันเมื่อสามารถคัดกรองค่า PM 2.5 ได้แล้ว จึงทำให้ตัวเลขค่า AQI เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยตัวเลข AQI ของกรมควบคุมมลพิษ คำนวณจากการนำอากาศมา 1 ลูกบาศก์เมตรและฝุ่นแต่ละชนิด (O3 , NO2 , CO, SO2 , PM 10 และ PM 2.5) ไปชั่งน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักมาตรฐานตามองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แต่ละชนิดจะต้องคำนวณมาได้น้อยกว่า 25 ไมโครกรัม เมื่อนำไปคำนวณแล้วฝุ่นชนิดไหนมีค่ามากที่สุดเท่ากับว่าส่งผลกระทบมากที่สุด ก็จะนำเอาชนิดนั้นเข้าไปในสูตรเป็นหลัก แล้วคำนวณออกมาเป็นตัวเลข AQI แบบไม่มีหน่วย แบ่งเกณฑ์ความรุนแรงเป็น 5 ระดับ ได้แก่

ตารางเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบในแต่ละระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ (อ้างอิง: http://air4thai.pcd.go.th)

ระดับที่ 1 สีฟ้า ตัวเลข 0-25 หมายถึง ดีมาก ระดับที่ 2 สีเขียว ตัวเลข 26-50 หมายถึง ดี
ระดับที่ 3 สีเหลือง ตัวเลข 51-100 หมายถึง ปานกลาง
ระดับที่ 4 สีส้ม ตัวเลข 101-200 หมายถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ระดับที่ 5 สีแดง ตัวเลข 201 ขึ้นไป หมายถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ

โดย ผศ.ดร.ภาสกร อธิบายถึงสาเหตุและระดับความรุนแรงของฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้น ๆ ด้วย ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูแล้ง ซึ่งมีความกดอากาศสูง อากาศนิ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดภาวะฝุ่นควัน เป็นช่วงหน้าไฟและเป็นช่วงที่มีการเผาหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพด แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ผลกระทบการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน

จุดสีแดง แดงถึงแหล่งกำเนิดความร้อนจากพื้นที่ต่าง ๆ

หากดูรูปจุดฮอตสปอตในระบบ FIRMS (Fire Information for Resource Management System) ของนาซ่าที่จับสัญญาณจากความร้อนที่เป็นลักษณะของเพลิงไหม้ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือของไทยจะเห็นจุดความร้อนจากการเผาถึง 1,151 จุด ส่วนบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน มีจุดฮอตสปอตเพิ่มขึ้นมากกว่าไทยหลายเท่าตัว โดยลักษณะของฝุ่นควันเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก ทำให้พัดพาไปได้ไกล เดินทางได้ในอากาศกว่า 500 กิโลเมตร และอยู่ได้นานในอากาศ สังเกตได้จากการที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้คาดการณ์ได้ว่า ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน

จากสภาวะฝุ่นควันในปัจจุบัน เห็นได้ว่าสถานการณ์เป็นไปตามคาด ซึ่งมีหน่วยงานพยายามเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เช่น ออกมาตรการลดการเผา การแจกหน้ากาก N95 และการฉีดพ่นละอองน้ำ แต่นั่นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ผศ.ดร.ภาสกรกล่าวเสริมว่า “ห้ามน้ำไม่ให้ไหล ห้ามไฟไม่ให้มีควันมันไม่ได้” เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การหยุดเผา ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถดำเนินการได้ หลาย ๆ หน่วยงานจึงได้พยายามให้ความรู้แก่ชาวบ้านและพลเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผาให้ได้มากที่สุด แต่ปัญหามีขนาดใหญ่เกินกว่าขอบข่ายอำนาจที่หน่วยงานในจังหวัดจะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งรัฐบาลควรยกระดับปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติ และประกาศให้เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การเผาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศ แต่ยังเกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในขณะที่ไทยพยายามเร่งแก้ไขปัญหา แต่ประเทศเพื่อนบ้านกลับมีการเผาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ควันไฟทะลักเข้ามาในพื้นที่ทางตอนบนของไทย และไม่มีท่าทีว่าจะเบาบางลง

ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวแนะวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยรัฐบาลควรสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Shelter) อย่างน้อยทุกหมู่บ้าน เป็นห้องที่มีลักษณะปิด ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในช่วงวิกฤตเพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอาย เนื่องจากฝุ่นควันมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต จึงควรได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ เพราะถึงแม้จะอยู่ในที่พัก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย หรือได้รับความเสี่ยงจากฝุ่นควันน้อยลง แม้การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศต้องใช้งบประมาณที่สูง แต่เทียบไม่ได้กับการสูญเสียคุณภาพในการใช้ชีวิต พร้อมทั้งปิดท้ายว่า

“เราทุกคนล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงพลาสติก การบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์ เราจึงจำเป็นต้องตระหนักและช่วยกันแก้ไขปัญหา ที่สำคัญต้องใส่ใจดูแลป้องกันตัวเอง เพราะผลกระทบจาก PM 2.5 ไม่ได้ทำให้ตายในทันที แต่จะทำให้ตายช้า ๆ อย่างทรมาน” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด