บทวิจารณ์: อย่ารอการแก้ไข
เรื่อง: แทนไท เสียมไหม / พิรัชต์นารา ตติยพาณิชย์
การที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศแย่ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกเป็นเวลาติดต่อกัน จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร โดยเหตุการณ์ที่ผ่านมาในสื่อโซเชียล ชาวเชียงใหม่ได้มีการกดแชร์และโพสต์ข้อความเพื่อเสียดสีว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้คนที่ควรแก้ปัญหาหายไปไหน ท่านผู้ว่าฯ จึงได้ออกมาดำเนินการมาตราการแก้ไข โดยให้มีการห้ามเผาป่า บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีมาตรการเปลี่ยนอาชีพของเกษตรกรและได้แจ้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้ช่วยกันหยุดปัญหาฝุ่นควัน และแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ด้วยการฉีดละอองน้ำไปทั่วทุกบริเวณในจังหวัดเชียงใหม่ หวังลดปริมาณฝุ่นควันในอากาศ แต่ กรีนพีซ ไทยแลนด์ เผยว่าการฉีดละอองน้ำไปบนอากาศนั้นไม่เป็นผลเนื่องจากอนุภาคของละอองน้ำนั้นมีขนาดใหญ่กว่าขนาดของฝุ่น PM 2.5 อนุภาคนั้นจึงทำได้แค่สัมผัสกับฝุ่นแต่ไม่สามารถดึงให้ฝุ่นลงมาได้ วิธีนี้จึงถือว่าไม่สำเร็จ
ต่อมามีการแจกหน้ากากอนามัยจากงบประมาณรัฐ แต่ประชาชนบางส่วนได้โพสต์ผ่านโซเชียลหลังได้รับหน้ากากอนามัยว่า หน้ากากที่ได้รับนั้นไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เนื่องจากไม่ใช่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ หน้ากากที่นำมาแจกจ่ายนั้นสมควรเป็นหน้ากากแบบ N95 ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า หลังจากเหตุการณ์นั้นได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกมากมาย
ต้นปีที่ผ่านมา (2562) กรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาฝุ่นควันดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ ต่อมาทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ จึงใช้เวลารอดพ้นจากภาวะฝุ่นควันได้ไม่นาน กลับกลายเป็นว่าจังหวัดเชียงใหม่ถูกละเลยความสนใจ ทั้งที่คุณภาพอากาศของเชียงใหม่นั้นรุนแรงยิ่งกว่ากรุงเทพฯ
สังเกตจากมาตรการแก้ไขที่ผ่านมานั้นไม่ได้ผล อีกทั้งจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะจึงแก้ไขได้ยาก ดังนั้นเมื่อไม่สามารถหวังพึ่งการแก้ปัญหาจากภาครัฐได้ ต้องเริ่มแก้ไขและป้องกันที่ตัวเองและคนรอบข้างเสียก่อนเรียนรู้ที่จะป้องกันอย่างถูกต้องพร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งให้การลดปัญหาฝุ่นควัน เพราะพื้นที่นี้ใช้หายใจร่วมกัน เราจึงต้องดูแลรักษามันให้ดีที่สุด