สาธารณสุขเผย สถิติผู้ป่วยจากปัญหาหมอกควันเพิ่ม เหตุจากสภาพอากาศย่ำแย่
เรื่อง: แทนไท เสียมไหม / นุชจรี ภูแสงศรี
ภาพ: แทนไท เสียมไหม
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยสถิติผู้ป่วยจากผลกระทบหมอกควัน โดยมีหมดทั้ง 4 กลุ่มโรค สาเหตุเพราะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่เป็นปัญหาทุกปี นักวิชาการชี้ทุกคนมีส่วนเป็นสาเหตุและเป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน
นายสุเทพ ฟองศรี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม และอาชีวะอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การรายงานสถิติผู้ป่วยจะรายงานเป็นรายสัปดาห์ สถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และไฟป่าตั้งแต่สัปดาห์แรก จนถึง สัปดาห์ที่ 10 (วันที่ 1 มกราคม ถึง 16 มีนาคม ปี 2562) อยู่ที่ 75,190 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยจาก 4 กลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน ได้แก่ กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด และสุดท้ายกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ไม่มีกลุ่มโรคอื่นนอกเหนือจากนี้ ซึ่งถ้านำข้อมูลระหว่างปี 2560 ถึงปี 2562 จะพบว่า ในปี 2562 มีอัตราผู้ป่วยสูงสุดในช่วงสัปดาห์แรกจนถึงสัปดาห์ที่ 6 และลดลงในสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าปี 2561 ในส่วนของปี 2560 นั้นพบว่า ช่วงสัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 8 ถึงสัปดาห์ที่ 10 มีอัตราผู้ป่วยสูงที่สุด
นอกจากข้อมูลสถิติรายปีแล้วยังมีข้อมูลเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยจำแนกเป็นโรค ระหว่างปี 2560 ถึง ปี 2562 พบว่า กลุ่มโรคที่มีอัตราผู้ป่วยเยอะที่สุด 2 กลุ่มแรก คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด และกลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด รองลงมา คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โดยสถิติในปี 2562 ช่วงสัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 10 มีผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือดทุกชนิด และกลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิดมากที่สุด อัตราผู้ป่วยในปีนี้เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 5 และค่อย ๆ ลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ 6 ตามลำดับ ซึ่งสามารถจำแนกตัวเลขของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มโรคได้ดังนี้ กลุ่มโรคหัวใจ และหลอดเลือดทุกชนิด เป็นกลุ่มโรคที่มีผู้ป่วยสูงสุด จำนวนผู้ป่วยรวม 29,651 ราย พบว่า สัปดาห์ที่ 2 มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 4,048 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด จำนวน 1,686 ราย ในสัปดาห์แรก รองลงมาเป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด มีจำนวนผู้ป่วยรวม 40,383 ราย พบว่า สัปดาห์ที่ 2 มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 4,995 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด จำนวน 1,767 ราย ในสัปดาห์แรก ถัดมาเป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 2,783 ราย พบว่า สัปดาห์ที่ 2 มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 331 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด จำนวน 136 ราย ในสัปดาห์แรก และกลุ่มโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ มีจำนวนผู้ป่วยรวม 2,373 ราย พบว่า สัปดาห์ที่ ๒ มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด จำนวน 284 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด จำนวน 117 ราย ในสัปดาห์แรก ผลสรุปของปี พ.ศ. 2562 พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 1 เป็นช่วงที่พบจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุด และจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง จนมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 10 ในส่วนของปี 2561 ช่วงสัปดาห์ที่ 6 เป็นสัปดาห์ที่มีอัตราผู้ป่วยจาก 2 กลุ่มโรคดังกล่าวมากที่สุด ในขณะที่อีก 2 กลุ่มโรคที่เหลือ คือ กลุ่มโรคตาอักเสบ และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เฉลี่ยเป็นรายปีทั้ง 3 ปี มีอัตราการเพิ่มขึ้น และลดลงของผู้ป่วยไม่ต่างกัน มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับ 2 กลุ่มโรคแรกที่กล่าวถึงในปี พ.ศ. 2562 และ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
สถิติข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยทั้งหมดถูกรายงานโดยโรงพยาบาล ทั้ง 24 แห่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่สังกัดของสำนักงานสาธารณสุข นายสุเทพ เผยว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่สูงที่สุดมาจากโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เช่น โรงพยาบาลฝาง โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลจอมทอง แต่ไม่ได้หมายความว่าโรงพยาบาลเหล่านี้มีจำนวนผู้ป่วยสูง เพราะตัวเลขจากการรายงานนั้นจะถูกส่งมาจากโรงพยาบาลเล็กในพื้นที่มาที่โรงพยาบาลใหญ่ สาเหตุที่มีโรงพยาบาลเพียงบางแห่งเท่านั้นเข้าสังกัดของสาธารณสุขเป็นเพราะต้องการสุ่มตัวอย่างของผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเก็บสถิติทั้งหมดตัวเลขนั้นไม่ได้ครอบคลุมทั่วจังหวัดเชียงใหม่ แต่การสุ่มตัวอย่างนั้นสามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป โดยโรงพยาบาลที่ไม่ใช่สังกัดของสาธารสุข ได้แก่ โรงพยาบาลของทหาร โรงพยาบาลวิชาการ โรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลอยู่ในสังกัดของรัฐบาลแต่ไม่อยู่ในสังกัดสาธารณสุข โดยในอนาคตอาจมีการเพิ่มให้โรงพยาบาลเอกชนรายงานร่วมในสังกัดด้วย
นายสุเทพได้กล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา จะมีอัตราผู้ป่วยมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งขัดต่อความคิดของคนทั่วไปที่เชื่อว่าเดือนมีนาคมจะสูงที่สุด เนื่องจากการสังเกตฝุ่นควันในอากาศ และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI หรือ Air quality index สูง จะลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม ซึ่งเป็นประจำแบบนี้ทุกปี เขาได้ให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนแปลงสถิติผู้ป่วยว่า สาเหตุล้วนมาจากปัญหาหมอกควันทั้งสิ้น ค่าของหมอกควันย่อมมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มโรคเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงนี้เท่านั้น หากแต่การนับค่าฝุ่นควันในปีที่แล้วปี 2561 และปีก่อนหน้านั้นเป็นการนับค่าฝุ่นขนาด PM 10 ซึ่งมีขาดประมาณ 1 ใน 10 ของเส้นผมมนุษย์ แต่ในปีนี้เป็นการนับฝุ่นควันขนาด PM 2.5 ซึ่งมีความร้ายแรงกว่า เนื่องจากมีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ มีความสามารถเข้าถึงระบบอวัยวะภายในของร่างกาย เพราะขดจมูกของมนุษย์เราไม่สามารถป้องกัน จึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปถึงถุงลม ร้ายแรงไปกว่านั้นหัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดพร้อมกับฝุ่นเข้าไปในหลอดเลือดด้วย ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดได้ แต่ไม่สามารถระบุความร้ายแรงได้ เพราะโรงพยาบาลเป็นผู้รายงานทางสาธารณสุขไม่ทราบ ทราบแค่ว่ามันมีผลต่อการเกิด 4 กลุ่มโรคข้างต้น หากดัชนีคุณภาพอากาศ และPM 2.5 สูงขึ้น ย่อมมีสถิติผู้ป่วยสูงขึ้นแน่นอนในอนาคต
นายสุเทพได้แนะวิธีป้องกันผลกระทบจากปัญหาหมอกควันโดยให้ทุกคนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นแบบ N95 งดการทำกิจกรรมภายนอกอาคารรวมไปถึงการออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากขณะนี้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศหรือ AQI ได้พุ่งทะลุ 400 ไปแล้ว นั่นหมายถึงค่าฝุ่น PM 2.5 ในอากาศที่มีปริมาณมาก และส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายชาวเชียงใหม่อย่างแน่นอน ควรสังเกตตนเองว่ามีอาการ ไอ มีน้ำมูก หอบหืด หายใจลำบาก หรือไม่ หากตรวจพบ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้นายสุเทพได้ฝากประชาสัมพันธ์ถึงชาวเชียงใหม่ว่า แท้จริงแล้วสาเหตุเกิดจากทุกคน เช่น การใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน และต้องยอมรับว่า สาเหตุบางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ภูมิประเทศของเชียงใหม่มีลักษณะเป็นแอ่ง สิ่งที่ควบคุมได้ คือ ยานพาหนะ และต้องช่วยกันอย่าเผาป่า หรือทำให้เกิดหมอกคันเพราะมันจะซ้ำร้าย ทางสาธารณสุขเองมีหน้าที่รับสถิติผู้ป่วย และวิเคราะห์ บางครั้งก็ออกมาแจกหน้ากากอนามัย ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ จึงอยากขอให้หน่วยงานแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ที่ตนพึงกระทำ และคอยติดตามข่าวสารเพื่อป้องกันอย่างใกล้ชิด