ทางของฝุ่น
เรียบเรียง: นิศาชล สุวรรณ์ / กชวรรณ มูลละ
ภาพ: จุฑาทิพย์ บัวเขียว
ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศ สภาพอากาศหลายจังหวัดในประเทศไทยถือว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่มีค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงเกินมาตรฐานไปมาก ฝุ่นละอองเหล่านี้รู้จักกันในชื่อว่า PM 2.5 (PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หากใครนึกภาพไม่ออกว่ามันเล็กขนาดไหน ก็ลองเปรียบเทียบกับเส้นผมของตนเองได้ เพราะว่าฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็กกว่าไปอีก 20 เท่า และการที่มันมีขนาดเล็กมากนี่เอง ทำให้มันสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างง่ายดาย
เส้นทางที่ฝุ่นจะเข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายที่สุดคือการหายใจ ซึ่งโดยปกติขนจมูกของเราสามารถกรองได้แค่ฝุ่นขนาด 10 ไมครอน แต่สำหรับฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน นั้นมีขนาดเล็กเกินกว่าที่ขนจมูกจะกรองได้ ดังนั้นฝุ่นละอองนี้จึงผ่านเข้าสู่โพรงจมูก แล้วไหลไปตามระบบทางเดินหายใจ จนเข้าไปสู่ปอด และซึมออกจากผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือด เลือดที่มีฝุ่นละอองปะปนเหล่านั้นจะไหลไปสู่หัวใจ และถูกสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
หลังจากฝุ่น PM 2.5 ได้เข้าสู่ร่างกายและไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ แล้ว มันจะเป็นอันตรายต่อทุก เส้นทางที่มันผ่าน เมื่อผ่านระบบทางเดินหายใจก็จะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เมื่อผ่านปอดก็อาจจะส่งผลระยะยาวทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ หลังจากผ่านเข้าสู่กระแสเลือดก็จะทำให้เลือดข้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง โดยฝุ่น PM 2.5 จะทำให้สมองเกิดการอักเสบและเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอนนี้ ยังสามารถแทรกซึมเข้าสู่ดวงตาและผิวหนังของเราได้ ซึ่งหากได้รับในปริมาณที่มากก็จะส่งผลให้เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบและโรคผิวหนัง
ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญและออกมาแจ้งเตือนให้ทราบ โดยมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ดังนั้นจะเห็นว่า ฝุ่นละอองที่เป็นเพียงแค่อนุภาคขนาดเล็ก ๆ นั้นสามารถส่งผลกระทบมหาศาลต่อร่างกายของมนุษย์ได้เช่นกัน
วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างง่ายสำหรับตนเองคือ การใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 เพราะสามารถป้องกันฝุ่นได้มากถึง 99.59% อ้างอิงจากผลการทดลองของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยถ้าบริเวณพื้นที่นั้นมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ควรงดการออกกำลังกาย หรือการทำงานหนักในที่โล่งแจ้ง ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากทางราชการ และหากมีอาการผิดปกติหลังสูดดมฝุ่นควัน ควรไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการอย่างเร่งด่วนทันที
ข้อมูลจาก Bangkok Hospital, Greenpeace Thailand และกรมควบคุมโรค