First Time Voter หนึ่งพลังขับเคลื่อนทางการเมือง
เรื่อง: พิชยาภัค เจริญวัง และกฤติกา บุญมี
ภาพ นราธร เนตรากูล
ประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้งเป็นเวลากว่า 8 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2562 จากสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าจำนวนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก หรือที่เรียกว่า First Time Voter มีจำนวนมากถึง 7.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและวัยทำงานตอนต้น ความคิดและทัศคติทางการเมืองของ First Time Voter มีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน และช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็แตกต่างไปด้วยเช่นกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ความหวังของประชาชนที่ต้องการให้ประเทศมีการเปลี่ยนแปลง จะเป็นไปในทิศทางใด
อดีตความคาดหวังต่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First Time Voter ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นไปในลักษณะของปรากฏการณ์ Swing Vote หรือการที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด เป็นพวกโลเล ไม่สามารถคาดเดาผลจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้ และมักถูกมองข้ามจากพรรคการเมืองในการสร้างนโยบายและการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มนี้ เนื่องจากการรับรู้ข่าวสารต้องผ่านสื่อกระแสหลักเท่านั้น เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่พรรคการเมืองจะมีเป้าหมายที่เน้นกลุ่มประชากรชนชั้นล่างที่มีสัดส่วนจำนวนมากกว่า แต่การเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา ไม่สามารถใช้คาดเดาได้เช่นเดิมอีกต่อไป เนื่องจากรูปแบบโครงสร้างสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยมากขึ้น จากสถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ให้ข้อมูลการใช้อินเทอร์เนตและโซเชียลมีเดีย ปี 2561 กลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ไปจนถึง 37 ปี ครองแชมป์การใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด โดยมีการใช้งานสูงถึง 10 ชั่วโมง 22 นาที ในวันธรรมดา และเพิ่มเป็นเกือบ 12 ชั่วโมงในวันหยุด ซึ่งสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดถึง 93.64% ซึ่งกลุ่ม First Time Voter คือกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงอายุดังกล่าว การประเมินผลจึงเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าหัวคะแนนกลุ่มนี้จะเสพสื่อจำนวนมาก หลากหลายช่องทาง มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางการเมืองตลอดเวลา แต่ทิศทางในการตัดสินใจกลับไปในทิศทางเดียวกัน ถือได้ว่าหากครองใจคนเหล่านี้ได้ อาจมีแนวโน้มที่ได้รับคะแนนแบบเหมากลับมา
ความน่าสนใจของ First Time Voter จำนวนกว่า 7.3 ล้านคน ที่มีทั้งระดับอุดมศึกษาและคนวัยทำงาน ที่สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปนั่งในสภาได้ถึง 70-80 คน เห็นได้ว่าไม่ใช่สัดส่วนคะแนนส่วนใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของพรรคการเมือง แต่คนกลุ่มนี้คือคนรุ่นใหม่ ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการบริโภคสื่อ การสร้างและรวมกลุ่มสามารถทำได้ง่าย ในสภาวะที่สังคมเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทเป็นนักข่าวในเวลาเดียวกัน ทุกคนสามารถสร้างพื้นที่สื่อในโลกออนไลน์ได้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่การต่อสู้ของข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกจำกัดแค่สื่อกระแสหลักอีกต่อไป
First Time Voter ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งมาก่อน ถือว่ามีความบริสุทธิ์ทางการเมือง พรรคการเมืองเกิดใหม่ก็เช่นกัน ทั้งคู่จึงมาพร้อมกับการเริ่มต้นบทบาทใหม่ ตอนนี้พรรคการเมืองใหม่มีการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเอง ทั้งลักษณะการแต่งกาย วิธีพูดแสดงทัศนะคติบนเวที กอปรกับจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน การมีจุดยืนที่สามารถป่าวประกาศได้อย่างตรงไปตรงมา และภาพลักษณ์เหล่านี้เริ่มทำงานกับความรู้สึกของคนที่เสพสื่อ นั่นคือคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มปฏิบัติตัวคล้ายการเป็นแฟนคลับต่อดารานักแสดงคนหนึ่ง แต่มีความรุนแรงกว่า นั่นก็คือสามารถทำให้คนรุ่นใหม่ก้าวไปสู่ความจงรักภักดี (Royalty) ต่อพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ ที่เกิดจากการสร้างความนิยมพื้นฐาน ผ่านระบบกลไกตลาดทั่วไป จึงนำไปสู่ความจงรักภักดีดังที่กล่าวมา โดยลักษณะความนิยมชมชอบในตัวนักการเมือง หรือพรรคการเมือง จะนำไปสู่การเป็นแบบอย่าง (Role model) รวมถึงจะพยายามรับรู้ว่าใครเป็นมิตรแท้หรือศัตรูกับคนที่ตนนิยมชมชอบ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้พร้อมเป็นหน่วยพิทักษ์หรือนักสืบทางโซเชียลแทน
พรรคการเมืองอื่นที่เห็นปรากฏการณ์ “คลื่น” แฟนคลับอย่าง First Time Voter ที่พร้อมปกป้องพรรคการเมืองที่เป็นแบบอย่างของพวกเขา พร้อมจะมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลง เช่น ตัวอย่างการเลือกตั้ง 2562 พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภามากถึง 83 ที่นั่ง รวมทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ที่สามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่สุดของไทยได้ ย่อมทำให้พรรคการเมืองอื่นเกิดความกังวลว่ากลุ่ม First Time Voter มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ซึ่งข้อดีของการมีแฟนคลับทางการเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น ส่งผลให้พรรคการเมืองต้องรอบคอบในการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าผลท้ายที่สุดแล้วพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาลย่อมเกิดความวิตกกังวลว่ากลุ่ม First Time Voter ที่มาใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างล้นหลาน จะติดตามข่าวสารไปจนกว่าจะเข้าสภาโดยถูกจับตาผ่านสื่อตลอดเวลา
ผศ.ดร. ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองและการปกครอง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เปรียบเทียบการเลือกตั้งไทยกับมาเลเซีย การเลือกตั้งไทยครั้งนี้เกิดการเลือกข้างของพรรคการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ มีการแบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 3 ฝ่ายด้วยกัน คือพรรคการเมืองที่สนับสนุนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคการเมืองอิสระที่ไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใด ประเทศมาเลเซียก็เช่นกันมีการเลือกข้างอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายขั้วอำนาจเก่าที่นำโดยมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และฝ่ายขั้วอำนาจใหม่ ไซเอ็ด ซาดิก อีกทั้งยังเกิดปรากฎการณ์ที่คนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศมาเลเซียมีจำนวนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่าจำนวนของคนที่มีสิทธ์เลือกตั้งกลุ่มคนสูงวัย ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุดฝ่ายขั้วอำนาจใหม่ชนะการเลือกตั้งด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ในส่วนของประเทศไทยผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 (อย่างไม่เป็นทางการ) ที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมากจะเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เช่นกัน อีกสิ่งที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการใช้สื่อสังคมออนไลน์รวมไปถึงสื่อมวลชน โดยเป็นกลไกสำคัญในการพยายามทำให้เกิดการขับเคลื่อนพลังของคนรุ่นใหม่ เห็นได้ว่าสังคมเป็นตัวกดดันและใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนสังคม
ถึงแม้การเลือกตั้งจะผ่านไปแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองเหล่านี้ก็เลือกใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการติดตามการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น เช่น การอภิปรายภายในสภาต่อไป และสิ่งที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงหลังจากการเลือกตั้ง คือการเติบโตของประชาธิปไตย อาจไม่ได้เติบโตในแง่ที่ว่ามีการเมืองที่เข้มแข็ง แต่เป็นการเติบโตที่ว่าสังคมต้องการอะไร ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้เลือกตั้ง ได้ใช้สิทธิตามเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น