ผู้พิการทางสายตาเชียงใหม่ใช้สิทธิเลือกตั้งฉลุย แนะรัฐฯ เพิ่มบัตรออกเสียง
เรื่อง :พาฝัน หน่อแก้ว / ปิยนัฐ รัฐประทาน/ภัทรวดี ลีลาเรืองโรจน์
ภาพ : ปิยนัฐ รัฐประทาน
ผู้พิการทางสายตาจังหวัดเชียงใหม่แห่ลงคะแนนเสียงอย่างราบรื่นพบอุปกรณ์การเลือกตั้งมีมาตรฐานแต่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ด้านอดีตนายกสมาคมคนตาบอดแนะภาครัฐฯ ควรเพิ่มบัตรทาบผู้พิการ
จากการที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ หน่วยเลือกตั้งที่ ๑๑๓ เขตเลือกตั้งที่ ๑ บริเวณโครงการสันติธรรมพลาซ่า ต.ช้างเผือก เทศบาลนครเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พบว่าอุปกรณ์การเลือกตั้งมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้สิทธิ นอกจากนี้ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังขาดความเตรียมพร้อม และไม่ได้รับการอบรมการใช้เบื้องต้น
นายภารกร คำเดช นายกสมาคมคนตาบอดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้พิการทางสายตา ประมาณ ๔,๐๐๐ คน ก่อนวันเลือกตั้งกกต. ได้มีการประสานงานและสาธิตการเลือกตั้งโดยใช้บัตรทาบ เบื้องต้น ตนมีความเห็นว่า ทางภาครัฐและผู้ลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการมากนัก เพราะอาจเห็นว่าพวกตนเป็นคนกลุ่มน้อย ตนจึงอยากให้มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มของพวกตนบ้าง เช่น อยากให้ กกต. มีความรู้พื้นฐานในการดูแลผู้พิการอย่างถูกต้องประจำในแต่ละหน่วยการเลือกตั้ง เผื่อกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ผู้พิการได้อย่างถูกต้อง ส่วนความกังวลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความกังวลในระบบการเลือกตั้งว่าจะมีความไม่โปร่งใสอยู่บ้าง เพราะกกต. สามารถลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการได้
โดยรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๙๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีการอำนวยความสะดวก สำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพพลภาพ รวมถึงผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ” ด้วยรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เกิดวิธีการการเลือกตั้งของผู้พิการมีตัวช่วย และทางเลือกที่มากขึ้น อาจส่งผลทั้งด้านบวก คือทำให้ผู้พิการอยากเดินทางมาใช้สิทธิมากขึ้น หรือจะส่งผลในด้านลบเพราะผู้ได้รับมอบหมาย หรือ กกต. สามารถลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการได้
นายอู๊ด เขียวทอง อดีตนายกสมาคมคนตาบอดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งพร้อมภรรยา และสมาชิกศูนย์นวดเพื่อสุขภาพโดยคนตาบอด รวมเป็นจำนวนทั้งหมด ๓ คน โดยได้เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้งที่ ๑ หน่วยเลือกตั้งที่ ๑๑๓ ตั้งอยู่ในโครงการสันติธรรมพลาซ่า ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่กลับพบว่าอุปกรณ์การเลือกตั้งหรือแผ่นอักษรเบรลล์มีเพียง ๑ ใบเท่านั้น นอกจากนี้ กกต. ได้เจาะบัตรทาบ หรือบัตรอักษรเบรลล์ตรงบริเวณคูหาเลือกตั้งทำให้การเลือกตั้งล่าช้า และอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อผู้มาใช้สิทธิ ในส่วนของการทาบบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น ใช้วิธีการทาบเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา แต่จำนวนบัตรลงคะแนนเสียงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้พิการ ซึ่งมีเพียงใบเดียวเท่านั้นในแต่ละจุด เนื่องจากผู้พิการทางสายตาในแต่ละเขต ไม่ได้มีเพียงคนเดียว จึงอยากให้กกต. เพิ่มจำนวนบัตรลงคะแนนเสียงในส่วนของผู้พิการทางสายตาด้วย แต่ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งปฏิบัติงานได้ดี ให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาอย่างเต็มที่ การเลือกลงคะแนนเสียงจึงเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย
นายอู๊ดกล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ถือว่าดีถือว่าไม่มีอุปสรรคใด ๆ แต่หากเทียบกับการเลือกตั้งในครั้งก่อน กลับพบว่ามีความยุ่งยากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสถานที่เลือกตั้ง ซึ่งตนไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด เพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง เนื่องจากตนเป็นคนตาบอด จึงต้องโทรสอบถามผู้อื่นให้ตรวจสอบสถานที่เลือกตั้งให้
ในส่วนของ กกต. ประจำหน่วยการเลือกตั้งดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น ๗ คน แบ่งเป็นกรรมการ ๕ คน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ๒ คน โดยกรรมการรับหน้าที่ดูแลบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่งมอบบัตรเลือกตั้ง ดูแลความเรียบร้อยทั้งคูหา และหีบเลือกตั้ง จากการสอบถาม กกต. พบว่า ไม่มีการอบรมหรือสาธิตวิธีการใช้บัตรทาบ โดยตนก็พึ่งมาเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เพราะในบัญชีรายชื่อไม่ได้ระบุตัวตนแน่ชัดว่าใครเป็นผู้พิการ ตนจึงไม่ทราบว่าในหน่วยเลือกตั้งมีผู้พิการมาใช้สิทธิ์หรือไม่ ทำให้ไม่ได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้า ส่วนการปฐมพยาบาลหรือวิธีการดูแลผู้พิการเบื้องต้น หากเกิดเหตุฉุกเฉินทาง กกต. ก็ยังไม่ได้รับการอบรมเช่นกัน
นายอู๊ด ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะเป็นผู้พิการทางสายตา อยากให้ประชาชนทั่วไปออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้เต็มที่ และฝากถึง กกต. ให้มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นในส่วนของผู้พิการ และเพิ่มจำนวนบัตรทาบในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อต่อไปจะได้ไม่เกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก
#เลือกตั้ง62 #ผู้พิการทางสายตา #กกต #ผู้พิการ # เลือกตั้งเชียงใหม่